วิธีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

สิงหาคม 25, 20200
วิธีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

วิธีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน หลังจากเขียนเนื้อหาเกี่ยวกับบุตรนอกสมรสมีสิทธิเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็มีประชาชนสนใจและถามเข้ามาเยอะในประเด็นของการตั้งผู้จัดการมรดก วันนี้ทนายเบียร์ศีมีข้อแนะนำในเรื่องวิธีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งมีหลายท่านสงสัยว่าต้องทำอย่างไร ใครมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดกและต้องใช้เอกสารอะไรบ้างในการขอตั้งผู้จัดการมรดก

จะมีการร้องขอเมื่อไหร่?

การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนี้ จะมีการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ก็ต่อเมื่อทายาทมีปัญหาหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการทรัพย์มรดก จึงจำเป็นต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกต่างๆได้ ดังนั้นเมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทในทันทีตามป.พ.พ. มาตรา 1599 และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1602 เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทดังนั้นถ้าผู้ตายไม่ได้ยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งก่อนตาย หรือมิได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนตายให้มรดกของผู้ตายตกแก่ทายาทโดยธรรมทันที กรณีเจ้ามรดกมีทายาทหลายคนทายาทแต่ละคนจะมีสิทธิและหน้าที่ในกองมรดก โดยส่วนแบ่งทายาทของผู้มีสิทธิรับมรดกระหว่างทายาทโดยธรรมซึ่งหมายถึงญาติตามลำดับชั้น ตามป.พ.พ. มาตรา 1629 และคู่สมรส ตามป.พ.พ. มาตรา 1635

ใครมีสิทธิได้รับมรดกบ้าง?

เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและมีทรัพย์สินอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งต้องตกทอดแก่ทายาทตามกฎหมาย อาจจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือโดยพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย คือ 1. ผู้สืบสันดาน  2.บิดามารดา 3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน  4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน . 5 ปู่ ย่า ตา ยาย 6. ลุงป้า น้า อา  และ ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมด้วย

ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เมื่อทรัพย์สินของเจ้ามรดกนั้นทายาทไม่สามารถจัดการเองได้ จึงต้องตั้งผู้จัดการมรดกก่อนที่จะมีการจัดการทรัพย์มรดก โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการสามารถยื่นคำร้องได้โดยแต่งตั้งทนายความทำคำร้องตั้งผู้จัดการมรดก หรือยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.)จะมีอัยการยื่นคำร้องแทนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามป.พ.พ.มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้
เขตอำนาจศาลในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดมรดกถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ตามป.วิ.พ. มาตรา 4 จัตวา บัญญัติว่า “คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก ให้เสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตายในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล ดังนั้น ตามกฎหมายดังกล่าวในการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ในขณะถึงแก่ความตายเท่านั้น แต่ถ้าขณะเจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้นเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาญาจักรการยื่นคำร้องให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาลนั้นส่วนบุคคลดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย ไม่สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 1718

หลักฐานในการใช้เพื่อทำคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกมีทั้งหมด8อย่างที่จะต้องใช้ยื่นต่อศาล ดังนี้
1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียบ้านของผู้ร้อง
2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียบ้านของเจ้ามรดก
3.เอกสารที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับเจ้ามรดก(สูติบัตร)
4.สำเนาใบมรณบัตรของเจ้ามรดก
5.บัญชีเครือญาติของเจ้ามรดก(ทนายจัดทำ)
6.สำเนาเอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดก
7.หนังสือให้การยินยอมในการร้องขอจัดการมรดกของทายาท
8.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนทายาทผู้ให้ความยินยอม

ใช้เวลานานไหม?

ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งผู้จัดการมรดกนี้ เมื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้วจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อประกาศหนังสือพิมพ์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนจะถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลจะทำการไต่สวนคำร้อง หากเอกสารครบถ้วนไม่มีเหตุขัดข้องและไม่มีใครคัดค้านศาลก็จะมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกในวันนั้นเลย เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง และใบสำคัญว่าคดีถึงที่สุดได้เมื่อเกิน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว เมื่อได้รับคำสั่งศาลมาแล้วก็สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อธนาคาร เจ้าพนักงานที่ดิน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของผู้ตายได้

 

สำหรับผู้ที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อมาหาทนายเบียร์ศีได้ที่นี่

แสดงความคิดเห็น

อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่ กรุณากรอกข้อมูลในช่องที่มี *