ตัวแทนไม่ได้ขายทรัพย์สินในราคาที่ตกลงกันไว้หากไม่คืนเงินถือเป็นการยักยอกหรือไม่

เมษายน 24, 20210
ตัวแทนไม่ได้ขายทรัพย์สินในราคาที่ตกลงกันไว้หากไม่คืนเงินถือเป็นการยักยอกหรือไม่

ตัวแทนไม่ได้ขายทรัพย์สินในราคาที่ตกลงกันไว้หากไม่คืนเงินถือเป็นการยักยอกหรือไม่

 

การนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นจำหน่ายให้แทนตน นิติกรรมดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการตั้งตัวแทนให้ทำกิจการต่อบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 797 หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงในสัญญาว่า ผู้ที่รับสินค้าไปขายมีอำนาจจัดการเหนือทรัพย์สินนั้นมากน้อยเพียงใด

 

หากไม่มีอำนาจตัดสินใจหรือกำหนดราคาทรัพย์สินนั้นได้อย่างเด็ดขาด เช่น โจทก์กำหนดราคาขายไว้ หากลูกค้าต่อรองราคาจำเลยจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เสียก่อนว่าขายได้หรือไม่ เป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยไม่มีอิสระในการกำหนดราคาได้อย่างแท้จริงจริง แม้จะมีบำเหน็จหรือค่าตอบแทนจากการที่ขายทรัพย์สินได้ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยนี้ก็มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทนตามมาตรา 797

 

ทั้งนี้การเป็นตัวการตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นหากกิจการที่มอบหมายให้ตัวแทนไปกระทำการตามกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ มาตรา 798 เช่น การมอบหมายให้ไปทำการซื้อขายทรัพย์สินทั่วไป

 

ดังนั้นเมื่อเป็นตัวการตัวแทนกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ตัวแทนครอบครองทรัพย์สินนั้นไว้ถือว่าเป็นการครอบครองแทนตัวการ เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ตัวแทนได้รับไว้ในกิจการที่กระทำแทนนั้นจะต้องคืนให้แก่ตัวการจงสิ้น ตามมาตรา 810 เมื่อจำเลยได้รับทรัพย์สินของโจทก์ไว้เพื่อไปจำหน่ายแทนโจทก์ แต่ได้เอาไปจำนำเสียจึงเป็นการเบียดบังทรัพย์สินของโจทก์ไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 13398/2557 และฎีกาที่ 5566/2541

 

แต่หากตัวการเพียงกำหนดราคาขายขั้นต่ำไว้ ตัวแทนจะขายในราคาเท่าใดก็ได้ เพียงแต่ต้องนำเงินมามอบให้โจทก์เท่ากับราคาขั้นต่ำที่โจทก์กำหนด หากตัวแทนขายได้ราคาสูงมากก็จะได้รับส่วนต่างมาก ทำให้ตัวแทนมีอำนาจตัดสินใจกำหนดราคาและสามารถขายสินค้านั้นได้อย่างเป็นทรัพย์สินของตน นิติกรรมระหว่างตัวการและตัวแทนจึงไม่ใช่สัญญาตัวแทน แต่อาจฟังว่าเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เงินที่ตัวแทนขายทรัพย์สินได้จึงไม่ใช่เงินที่จำเลยได้รับไว้เพราะการเป็นตัวแทนของตัวการเจ้าของทรัพย์สิน และไม่ใช่เงินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของตัวการ เมื่อตัวแทนไม่นำเงินมาคืนให้กับตัวการจึงไม่ถือว่าตัวแทนเบียดบังเอาทรัพย์สินของตัวการไป เป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 334 หรือมาตรา 352 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6331/2562

 

มีข้อสังเกตต่อไปอีกว่า ในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยคืนทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายได้เสียไปจากการกระทำความผิด เช่นฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินราคาทับทิมที่โจทก์ร่วมมอบให้จำเลยนำไปขายมูลค่า 500,000 บาท และมีคำขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมตามป.วิ.อ.มาตรา 43 แม้คดีส่วนอาญาศาลจะฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอกเพราะเงินดังกล่าวไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมและมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลก็มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคำขอในส่วนแพ่งต่อไปได้ เพราะคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตามป.วิ.อ.มาตรา 47 แม้จะยกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วนี้นเมื่อจำเลยรับว่ามีความรับผิดทางแพ่งที่จะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ร่วมตามสัญญา ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ร่วมตามคำร้องของพนักงานอัยการได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 6331/2562

 

หมายเหตุ

1.การฟ้องตัวแทนยักยอกต้องดูว่ามีอำนาจจัดการทรัพย์สินแทนตัวการหรือไม่

2.คดีส่วนอาญายกฟ้องแต่ศาลพิพากษาในส่วนแพ่งได้

แสดงความคิดเห็น

อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่ กรุณากรอกข้อมูลในช่องที่มี *