ฟ้องลูกแชร์ ด้วยสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ อยากให้ลูกแชร์จ่ายเงินต้องทำสิ่งนี้

พฤษภาคม 5, 20200
ฟ้องลูกแชร์ ด้วยสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ อยากให้ลูกแชร์จ่ายเงิน ต้องทำสิ่งนี้

ฟ้องลูกแชร์ ด้วยสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ อยากให้ลูกแชร์จ่ายเงิน ต้องทำสิ่งนี้

 

ลูกแชร์ไม่จ่ายค่าแชร์ที่ประมูลได้ ท้าวแชร์จับทำสัญญาเงินกู้

หากลูกแชร์ไม่ชำระอีก จะฟ้องตามสัญญากู้ยืมไม่ได้

เพราะลูกแชร์สามารถต่อสู้ได้ว่า ไม่ได้รับเงินตามสัญญากู้ยืม

ดังนั้น ท้าวแชร์หรือนายวงแชร์ฟ้องลูกวงแชร์เป็นคดีแพ่งข้อหาผิดสัญญาการเล่นแชร์ได้

แต่จะฟ้องให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมที่ทำกันภายหลังไม่ได้

**หากทำภายหลังที่ลูกวงแชร์ไม่ชำระค่าแชร์ ให้ทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ถึงจะฟ้องรัองให้ลูกวงแชร์รับผิดได้**

 

อ้างอิงฎีกาที่ 5292/2548

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลย จำเลยให้การว่าไม่ได้กู้เป็นเรื่องการเล่นแชร์กัน การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยเล่นแชร์กับโจทก์และจำเลยประมูลแชร์ได้ โจทก์ซึ่งเป็นนายวงแชร์ให้จำเลยทำสัญญากู้เงินเพื่อเป็นประกันว่าจำเลยจะส่งชำระค่าแชร์ในงวดที่เหลือต่อไป และต่อมาการเล่นแชร์สิ้นสุดลงโดยจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งเป็นการนำสืบตามที่จำเลยให้การต่อสู้ และเป็นการนำสืบถึงมูลเหตุที่มาของการทำสัญญากู้เงิน เพื่อแสดงให้เห็นว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ เพราะจำเลยส่งชำระค่าแชร์ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว เท่ากับเป็นการนำสืบว่าสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง จำเลยจึงมีสิทธินำสืบได้ หาใช่เป็นการนำสืบถึงการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินไม่

โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้เถียงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน แต่กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับซึ่งเป็นผลให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นพับไปด้วย จึงไม่ถูกต้อง เพราะการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้รับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแค่ไหนเพียงไรนั้น เป็นดุลพินิจของศาลโดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์รับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยเป็นเรื่องการใช้ดุลพินิจ มิใช่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง

 

อ้างอิงฎีกาที่ 2013/2537

มูลหนี้ตามฟ้องโจทก์ไม่ใช่มูลหนี้การกู้ยืมเงินตามความหมายของพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี รวมอยู่ในมูลหนี้ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มูลหนี้เดิมเกิดจากจำเลยที่ 1 ร่วมเล่นแชร์กับโจทก์ แล้วจำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระหนี้ค่าแชร์ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คถือว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าแชร์ การชำระหนี้ด้วยเช็คเช่นนี้ไม่ใช่การแปลงหนี้ใหม่ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงอาศัยมูลหนี้เดิมตามสัญญาการเล่นแชร์หาได้ฟ้องให้รับผิดตามเช็คไม่ อายุความเกี่ยวกับการฟ้องเรียกเงินค่าแชร์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30ใหม่) เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้าย และเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถึงวันที่ 30กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

แหล่งอ้างอิง

http://deka.supremecourt.or.th/search

http://www.beerseelawyer.com/ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง/

 

#ท้าวแชร์ #ลูกแชร์ #สัญญาเงินกู้ #สัญญากู้ยืมเงิน #ฟ้องลูกแชร์ #ลูกแชร์เบี้ยวเงิน

แสดงความคิดเห็น

อีเมลของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่ กรุณากรอกข้อมูลในช่องที่มี *